วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ความหมายของ "ขนมไทย" ในงานมงคล



        ขนมไทย  เป็นขนมหวานของไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ  ถือเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างช้านาน  ในสมัยก่อนขนมไทยจะทำเฉพาะเวลามีงานเท่านั้น  ไม่ว่าจะเป็นในงานเทศกาล  งานประเพณี  งานประเพณี  งานทางศาสนา  หรือการประกอบพิธีกรรมต่างๆ  แต่ที่เห็นมีขนมหลากหลายกินทุกวันหลังสำรับคาวหวาน  หรือกินเป็นของว่าง  ก็ล้วนแต่คิดประดิดประดอยขึ้นภายหลังแล้วทั้งสิ้น  รวมถึงขนมจากต่างชาติที่เข้ามาโดยผ่านความสัมพันธ์ทางการเมืองก็ถูกดัดแปลงให้มีรูปรสลักษณะเป็นแบบไทยๆ  จนบางที่คนนึกกันไปว่าเป็นขนมไทยแท้ดั้งเดิมก็มี  แต่แท้ที่จริงแล้วขนมไทยแท้ๆนั้น  จะมีส่วนประกอบเพียงสามอย่าง  คือ  แป้ง  น้ำตาล  มะพร้าว  โดยการทำขนมไทยนี้เป็นการบ่งบอกถึงลักษณะนิสัยของคนไทยในเรื่องความอดทน  ใจเย็น  ละเอียดลออ  และช่างสังเกต ทั้งยังได้แฝงความหมายอันลึกซึ้งไว้ในชื่อของขนมไทยแต่ละอีกชนิดด้วย
        ขนมทองหยิบ  ทองหยอด  ทองพลู  ทองโปร่ง  ทองม้วน  ทองเอก  เป็นขนมมงคล  เชื่อกันว่าจะมีเงินทองใช้อย่างล้นเหลือไม่รู้จักหมดสิ้น
        ขนมเม็ดขนุน
 มีในงานมงคลต่างๆ  ให้ความหมายว่า  ทำกิจการใดก็จะมีคนคอยสนับสนุน  ค้ำจุน  ช่วยเหลือไม่มีวันตกต่ำ
        ขนมชั้น  นิยมทำในงานฉลองยศ  เพราะหมายถึงลำดับชั้นยศถาบรรดาศักดิ์  คนไทยในสมัยโบราณทำขนมถึง  9  ชั้น  ถือเคล็ดกันว่าจะได้ก้าวหน้า
        ข้าวเหนียวแดง  กาละแม
  เป็นขนมที่นิยมทำกันในช่วงงานเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย  เนื่องต้องอาศัยหลายแรงมาช่วยกันกวนขนม  จึงถือเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ช่วยเหลือซึ่งกันและกันด้วยมิตรไมตรี  อันจะเป็นความดีงามในชีวิตภายภาคหน้าสืบต่อไป
        ขนมข้าวเหนียวแก้ว  หากมีขนมนี้ใช้ในงานมงคลใดๆชีวิตก็จะมีความเหนียวแน่น  เป็นปึกแผ่นมั่นคง
        ขนมฝอยทอง  หากใช้ในงานแต่งงาน  ถือเคล็ดกันว่า  ห้ามตัดให้สั้นต้องปล่อยให้ยืดยาวอย่างนั้น  เพราะคู่บ่าวสาวจะได้รักกันยืนยาวและครองคู่อยู่ด้วยกันตลอดไป
        ขนมจ่ามงกุฎ  นิยมทำกันในงานฉลองยศ  ฉลองตำแหน่ง  เพราะมีความหมายว่าจะมีลาภยศอันสูงส่ง  เป็นนิมิตหมายอันดีในหน้าที่การงานสืบไป
        ขนมเทียนหรือขนมนมสาว  ให้ความหมายถึงความสว่างไสว  ความรุ่งโรจน์ของชีวิต
        ขนมพอง  ขนมลา  ขนมไข่ปลา  ขนมดีซำ  เป็นขนมที่ใช้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ  ทำกันในงานเทศกาลสารทของชาวใต้  มีความหมายต่างกันไป  เช่น  ขนมพองแทนพาหนะ  ขนมลาแทนเครื่องนุ่งห่ม  ขนมไข่ปลาแทนเครื่องประดับ  ขนมดีซำใช้ต่างแหวน  กำไล  เป็นต้น
        ข้าวต้มมัด  มีในงานตักบาตรเทโว  เล่ากันว่าเกิดจากชาวเมืองไปคอยรับเสด็จพระพุทธเจ้า  แล้วจะทำบุญตักบาตรด้วยข้าวต้มมัดเพราะเป้นของสะดวกและกินง่าย  ส่วนข้าวต้มลูกโยน  บ้างก็ว่าชาวบ้านที่ไปเบียดเสียดต้องการจะตักบาตรแต่เข้าไปไม่ถึง  องค์พระพุทธเจ้าจึงต้องใช้วิธีโยนข้าวต้มนี้เอา
        ขนมถ้วยฟู  ขนมปุยฝ้าย  มีความหมายว่าความรุ่งเรืองความเฟื่องฟูของชีวิต
        ขนมโพรงแสม  เป็นขนมแต่งงานที่เก่าแก่และมีมานานชนิดหนึ่ง  โบราณท่านเปรียบขนมนี้ว่า  เสมือนเสาบ้านที่คูบ่าวสาวจะอยู่กันได้ยั่งยืนตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น